สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่าพัฒนา อำเภอเวียงเก่า เป็นสวนสาธารณะริมเส้นทางระหว่างทางไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง มีพื้นที่ 25 ไร่ มีฉากหลังเป็นเทือกเขาภูเวียง ในบริเวณจัดทำเป็นสวนพักผ่อน สวนสุขภาพ มีโขดหิน น้ำตก บ่อน้ำ สวนหย่อม สนามนั่งเล่น มีหุ่นไดโนเสาร์จำลองเรียงรายทั่วบริเวณนับร้อยตัว บางตัวสามารถร้องได้ เคลื่อนไหวได้คล้ายของจริง เป็นไดโนเสาร์ที่มีการค้นพบฟอสซิลในภาคอีสาน
การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง โดยเดินทางจากขอนแก่นถึงอำเภอภูเวียงระยะทาง 70 กิโลเมตร และเดินทางจากตัวอำเภอต่อไปอีก 7 กิโลเมตร จะเห็นอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงอยู่ด้านซ้ายมือ
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่จอดรถ ไม่มีที่จอดระสำหรับคนพิการ แต่ที่จอดรถเป็นลานกว้างใกล้ทางเข้าออกอุทยาน
ทางเดินทางเชื่อม อยู่ระดับเดียวกันกับพื้นภายนอก บางพื้นที่เป็นพื้นขรุขระเป็นกรวดใหญ่และแผ่นหินวางเว้นร่อง ยากแก่การสัญจร
ทางลาด มีทางลาดเข้าสู่บริเวณอุทยาน
บันได พื้นผิววัสดุไม่ลื่น
วัดพระพุทธบาทภูพานคำตั้งบริเวณไหล่เขาภูพานคำ อำเภออุบลรัตน์ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองในมณฑป และ พระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ หรือหลวงพ่อใหญ่ สูง 14 เมตร อยู่บนยอดเขา มีบันไดทางขึ้นจากลานวัดไปยังยอดเขาจำนวน 1,049 ขั้น หรือจะขับรถยนต์ขึ้นไปถึงยอดเขาก็ได้ บนยอดเขามองเห็นทัศนียภาพทะเลสาบเขื่อนอุบลรัตน์ได้สวยงาม
การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปเขื่อนอุบลรัตน์ ก่อนถึงประตูทางเข้าบริเวณเขื่อนจะมีป้ายวัดอยู่ด้านซ้ายมือ หรือจะใช้ทางเข้าวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาลอุบลรัตน์ก็ได้
บางแสน 2 และหาดจอมทองตั้งอยู่ที่บ้านหินเพิง ตำบลท่าเรือ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 53 กิโลเมตร ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปเขื่อนอุบลรัตน์ แต่อยู่ก่อนถึงเขื่อนอุบลรัตน์มีทางทางแยกไป บรรยากาศโดยรอบของชายหาดริมทะเลสาบน้ำจืดเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ สวยสะดุดตาเมื่อพระอาทิตย์ฉายส่องลงมาในยามเย็นกระทบกับทิวเขาภูเก้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลัง กิจกรรมกีฬาทางน้ำที่น่าสนใจก็คือ การบริการให้เช่าจักรยานน้ำ, บานาน่า โบ๊ต, ห่วงยาง นอกจากนี้ยังมีบริการอาหารเลิศรสที่ปรุงจากปลาภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ได้แก่ ปลานิล, ปลาเนื้ออ่อน, ปลาช่อน ฯลฯ ช่วงเทศกาลสำคัญ หรือ วันหยุด มักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมธรรมชาติ และเล่นน้ำกันเป็นจำนวนมาก
อุทยานกล้วยไม้ป่าช้างกระ วัดป่ามัญจาคีรีอยู่บนถนนสายมัญจาคีรี-ชนบท ห่างจากตัวอำเภอมัญจาคีรี 1 กิโลเมตร หรือห่างจากขอนแก่นประมาณ 57 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นเนินดินขนาดใหญ่กลางทุ่ง มีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ บริเวณวัดมีต้นไม้เก่าแก่จำนวนมากที่มีอายุหลายร้อยปี โดยเฉพาะต้นมะขาม และยังมีต้นตะโก กระถินป่า รวมประมาณ 280 ต้น มีกล้วยไม้ป่าพันธุ์ช้างกระเกาะอยู่ตามกิ่งไม้และเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 4,000 ต้น กล้วยไม้เหล่านี้จะเริ่มออกช่อในราวเดือนธันวาคมและดอกสีชมพูขาวจะชูช่อบานเต็มที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไปทั่วบริเวณ
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอนแก่น และกรมทรัพยากรธรณี เพื่อศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพยากรธรณีสู่สาธารณชน เพื่อการอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ของสังคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป อาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบริการ ได้แก่ ร้านขายของที่ระลึก ห้องอาหาร ห้องบรรยาย ส่วนวิชาการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ ห้องทำงาน ห้องสมุด และส่วนนิทรรศการ ได้แก่ ห้องจัดแสดงชั้นล่างและชั้นบน จัดแสดงนิทรรศการการกำเนิดโลก หิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ และหุ่นจำลองไดโนเสาร์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง กรมทรัพยากรธรณี โทร. 0 4343 8204-6
การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง จากขอนแก่นเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ผ่านอำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ ถึงทางแยกไปอำเภอภูเวียง ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร จึงแยกตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2038 อีก 22 กิโลเมตรถึงอำเภอภูเวียงและเดินทางต่อไปอีก 10 กิโลเมตรถึงพิพิธภัณฑ์
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่จอดรถ ไม่มีที่จอดรถเฉพาะของคนพิการ แต่ที่จอดเป็นลานกว้างใกล้ทางเข้าออกพิพิธภัณฑ์
ทางเดินทางเชื่อม บางพื้นที่มีพื้นยกระดับเล็กน้อย
ทางลาด มีทางลาดเข้าสู่อาคาร และทางลาดภายในอาคาร
บันได พื้นผิววัสดุไม่ลื่นและมีราวจับ
ห้องส้วม มีห้องส้วมเฉพาะจัดให้คนพิการ อยู่ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก
อุทยานแห่งชาติภูผาม่านรูปลักษณ์ภายนอกของอุทยานแห่งนี้คือเทือกเขาหินปูนที่มีหน้าผาตัดตรงดิ่งลงมาเป็นริ้วๆคล้ายผ้าม่าน สภาพป่าของที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศจะเย็นชื้นเกือบตลอดปี อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 218, 750 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณในอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
สภาพป่าของที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศจะเย็นชื้นเกือบตลอดปี อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 218, 750 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณในอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานอยู่กระจัดกระจายกันจึงแบ่งเส้นทางท่องเที่ยวได้สองเส้นทางดังต่อไปนี้
- เส้นที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน ไปตามเส้นทางชุมแพ - เพชรบูรณ์ (ทางหลวงหมายเลข 12) เลี้ยวขวาไปตามทาง สาย 201 ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางสู่ที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน
ถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่บนภูผาม่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 2.5 กิโลเมตรอยู่บริเวณหน้าผาด้านหน้าสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 100 เมตร เมื่อเข้าใกล้จะได้กลิ่นเหม็นของค้างคาว ปากถ้ำสามารถมองเห็นแต่ไกล ภายในถ้ำมีค้างคาวขนาดเล็กอาศัยอยู่นับล้านๆ ตัว ภายในถ้ำมีกลิ่นเหม็นฉุนจัด ทุกวันค้างคาวจะออกจากถ้ำในเวลาประมาณ 18.00 น. ตอนบินออกจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที โดยจะบินออกเป็นกลุ่มยาวนับสิบกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถมานั่งพักผ่อนและชมความอัศจรรย์ของธรรมชาติที่มีค้างคาวอยู่รวมกันนับล้าน ไปพร้อมกัน
ถ้ำพระ อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำที่มีลักษณะยาวเฉียงขึ้นด้านบนสามารถเดินทะลุถึงยอดภูผาม่านได้แต่เส้นทางค่อนข้างลำบากภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีเสาหินขนาดใหญ่ รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งปี แต่เหมาะที่จะท่องเที่ยวในฤดูหนาวเนื่องจากในฤดูฝนมีน้ำไหลผ่านถ้ำทำให้มีตะไคร่จับก้อนหิน
โครงการพัฒนาป่าดงลาน 4 ตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบหมู่ 1 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน ประมาณ 14 กิโลเมตร ที่นี่เป็นที่ทำการของหน่วยงานกรมป่าไม้ บริเวณรอบๆ เงียบสงบ อากาศหนาวเย็น มีบ้านพักรับรองแขกได้ประมาณ 30-50 คน นอกจากนั้นยังมีห้องประชุมขนาดย่อม เหมาะสำหรับผู้ที่มาพักผ่อนเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4324 9001
ถ้ำภูตาหลอ ตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน 17 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงได้เฉพาะในฤดูแล้ง เป็นถ้ำที่โอ่งโถง พื้นที่ประมาณไร่เศษ เพดานถ้ำสูงประมาณ 5-7 เมตร มีหินงอกหินย้อยซึ่งยังอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติ พื้นถ้ำเป็นดินเรียบอากาศภายในเย็นสบาย หินบางก้อนมีลักษณะคล้ายหินเขี้ยวหนุมาน
น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดฟ้าซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในท้องที่บ้านดงสะคร่าน หมู่ 7 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 40 กิโลเมตร รถสามารถเข้าไปถึงแค่บ้านตาดฟ้า หลังจากนั้นต้องเดินเท้าต่อไปอีก มีน้ำตกทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่สวยงามที่สุดคือ ชั้นสุดท้ายซึ่งมีความสูงประมาณ 80 เมตร ฤดูที่น้ำตกตาดฟ้าจะสวยที่สุดคือฤดูฝน
- เส้นสำนักงานอุทยานฯ ตรงต่อมาจากเส้นทางเดิม ตามทางหลวงหมายเลข 201
ถ้ำพญานาคราช ภายในมีหินงอกหินย้อยลักษณะเป็นริ้วคล้ายม่านประดับด้วยเกร็ดประกายแวววาวของหินแร่สวยงามมาก ถ้ำนี้มีความคดเคี้ยวคล้ายดั่งตัวพญานาค ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
ถ้ำลายแทง อยู่ถัดจากถ้ำพญานาคราชมาประมาณ 800 เมตร มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำกว้างประมาณ 2 ตารางเมตร ภาพมีลักษณะต่างๆ เช่น ภาพคน สัตว์และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70 ภาพ เมื่อชาวบ้านมาพบคิดว่าเป็นลายแทงบอกสมบัติจึงเรียกว่าถ้ำลายแทง
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งคือ “น้ำตกตาดร้อง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตกตาดฮ้อง” อยู่ในเขตจังหวัดเลยระหว่างรอยต่ออุทยานแห่งชาติภูกระดึงและอุทยานแห่งชาติภูผาม่านและลำน้ำพอง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 70 เมตร เล่ากันว่าน้ำตกแห่งนี้ร้องได้เพราะบริเวณใต้น้ำตกมีแผ่นหินขนาดใหญ่ยื่นออกมารองรับน้ำตกเปรียบเสมือนลิ้นขนาดใหญ่เวลาน้ำตกลงมากระทบแผ่นหิน และแฉลบไปตามซอกหินต่างๆ ทำให้เกิดเสียงดังประหลาดก้องไปทั่วป่า
ที่อุทยานแห่งนี้ยังไม่มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน โทร 0 4321 0163, 0 4335 8075 หรือที่สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760
เมืองโบราณโนนเมืองเป็นการพบร่องรอยทางโบราณคดี ยุคสมัยศิลปะทวารวดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งความจริงสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่นได้จัดเป็นโบราณสถานที่สำคัญของขอนแก่นไว้นานแล้วแต่เพิ่งจะขุดค้นพบเป็นบางส่วนไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525 พบว่าใต้ดินลึกลงไปจากบริเวณโนนเมืองเป็นร่องรอยถิ่นฐานของสังคมประวัติศาสตร์สมัยหนึ่งในอดีตเมืองโบราณสมัยทวารวดีแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า โนนเมือง เขตบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพ ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 80 กิโลเมตร เดิมทีชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาว่าบริเวณเนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองเก่าเมืองโบราณจากการสำรวจของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น พบในเสมาหินทรายศิลปะทวารวดี 3 ใบ ตั้งใกล้เคียงและบนผิวพื้นดินทั่วไปของเนินพบเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีด และลายเชือกทาบลักษณะของเนินเป็นเนินดินรูปไข่ พื้นที่ประมาณ 170 ไร่ มีคูเมือง 2 ชั้น ระยะห่างกันประมาณ 200 เมตรการขุดค้นของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น โดยเปิดหลุมขุด 2 หลุมขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ได้พบว่าตรงความลึกประมาณ 270 เซนติเมตร เป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ ที่มีธรรมเนียมการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมกับศพ เช่น หม้อและภาชนะดินเผาเขียนสีและลายขูดขีด ลายเชือกทาบ กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์เช่น กระดูกหมู กระดูกควาย เขากวาง และกระดองเต่าใกล้กับโครงกระดูกด้วย สำหรับหลุมแรกพบโครงกระดูกจำนวน 5 โครงและหลุมที่ 2 จำนวน 2 โครง อย่างไรก็ดี ขณะนี้เพียงสันนิษฐานว่าโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบน่าจะเป็นคนในยุคสมัยทวารวดีจนกว่าจะมีการพิสูจน์ วิเคราะห์ตามหลักวิชาการที่ถูกต้องด้านโบราณคดีต่อไปในภายหลัง
การเดินทาง ใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12 ) ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง จัดแสดงเรื่องราวท้องถิ่นอีสานเหนือ ในทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยา โดยแบ่งเรื่องราวตามหัวข้อ ดังนี้
1.สภาพภูมิศาสตร์และธรณีวิทยาอีสานเหนือ
1.1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์
-การตั้งถิ่นฐาน เครื่องมือเครื่องใช้ พิธีกรรม การฝังศพ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ
-เมืองและชุมชนโบราณ
1.2 สมัยประวัติศาสตร์ แบ่งเป็นวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมรหรือลพบุรีและวัฒนธรรมไทยลาว
2. วิวัฒนาการศิลปะในประเทศไทย
3. เมืองขอนแก่น ประกอบด้วย ร่องรอยอดีต ประวัติชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมพื้นบ้าน
โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ มี
-ใบเสมาหินจำหลักสมัยทวารวดี ชิ้นที่งามที่สุด คือ ใบเสมาหินจำหลักนูนต่ำ พระพุทธเจ้าเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นภาพจำหลักที่ชัดเจนและสมบูรณ์กว่าแผ่นอื่น ภาพพระนางพิมพาสยายพระเกศาเช็ดพระบาท เป็นภาพแสดงการถวายความเคารพบูชาอย่างสูง ได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ พระพุทธรูปสำริด ภาพปูนปั้นและพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีได้จากการขุดแต่งเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ แผ่นเงินดุน ภาพพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ภาพบุคคล และเจดีย์บรรจุอยู่ในหม้อดินเผา ได้จากการขุดค้นเมืองกันทรวิชัย อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
-โบราณวัตถุสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 เช่น
-เทวรูปพระอิศวรหินทราย พบที่บริเวณกู่น้อย เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
-เทวรูปพระนารายณ์สี่กร ขุดพบระหว่างการขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน เมืองนครจำปาศรี ได้พบแต่องค์ ไม่พบเศียร พระโพธิสัตว์หินทราย ศิลปะลพบุรี หน่วยศิลปากรที่ 7 ขุดพบที่กู่สันตรัตน์ เมืองนครจำปาศรี ทับหลังหินจำหลัก จากโบราณสถานกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเป็นตัวอย่างฝีมือการจำหลักหินซึ่งเป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปราสาทหินสม้ยลพบุรี พิพิธภัณฑ์ฯนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดวันจันทร์วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. 0 4324 6170
www.thailandmuseum.com